กำเนิดวันท้องถิ่นไทย
๑๘ มีนาคม ๒๕๕๙
ในปีร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานดำริในการกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่นขึ้น โดยทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯร.ศ.๑๑๖ ขึ้นจากการที่ทรงมอบหมายให้ไปศึกษาดูงานการปกครอง ในแถบ ประเทศพม่า มลายูและยุโรป และได้เริ่มทำการทดลองเพื่อเป็นการ ศึกษา ขึ้นในกรุงเทพมหานคร แต่การบริหารงานของสุขาภิบาลกรุงเทพฯนี้ดำเนินการโดยข้าราชการทั้งหมด จึงไม่อาจกล่าวได้ ว่าสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. ๑๑๖ เป็นการปกครองท้องถิ่น เนื่องจากประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) กระทรวงมหาดไทย จึงได้มีการจัดตั้งสุขาภิบาลแห่งแรกขึ้นที่ ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร อันถือเป็นสุขาภิบาล แห่งแรกของชาติไทย ปฐมบทแห่งการปกครองท้องถิ่น รากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ดังนั้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาล ที่ ๕ ซึ่งทรงกรุณาโปรดเกล้าฯจัดตั้งสุขาภิบาล ท่าฉลอมขึ้นเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งแรก จึงได้ถือเอาวันที่ ๑๘ มีนาคมของทุกปีเป็นวันท้องถิ่นไทย อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจาย อำนาจการปกครองให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและเป็นการวางรากฐานในการปกครอง ท้องถิ่นอันสำคัญยิ่งที่จะนำไปสู่การวางรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในเวลาต่อมา
การปกครองท้องถิ่นของประเทศไทยในปัจจุบัน
การปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย มีรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น ๒ รูปแบบใหญ่ ๆ คือ
๑. การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป เป็นรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศทุกจังหวัด มี ๓ ประเภทได้แก่
๑.๑ เทศบาล แบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ได้แก่
๑.๑.๑ เทศบาลตำบล คือเขตท้องถิ่นชุมชนที่มีประชากรรวมกัน ๕,๐๐ คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้อันสมควร ในการปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติเทศบาล หรือ เป็นสุขาภิบาลเดิมมาก่อนการยกฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาลตำบล
๑.๑.๒ เทศบาลเมือง คือเขตท้องถิ่นชุมชนที่เป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัด หรือท้องถิ่นที่มี ประชากรรวมกัน ๑๐,๐๐๐ คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้อันสมควรในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเทศบาล
๑.๑.๓ เทศบาลนคร คือเขตท้องถิ่นชุมชนที่มีประชากรรวมกัน ๕๐,๐๐๐ คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้ อันสมควรในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเทศบาล
๑.๒ องค์การบริหารส่วนตำบล มีชื่อย่อเป็นทางการว่า อบต. มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็น ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติมจนถึงฉบับที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยยกฐานะจากสภาตำบลที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกันสามปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท
๑.๓ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของ ประเทศไทย มีจังหวัดละหนึ่งแห่ง ยกเว้นกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั้งจังหวัด จัดตั้งขึ้นเพื่อบริการสาธารณ ประโยชน์ในเขตจังหวัด ตลอดทั้งช่วยเหลือพัฒนางานของเทศบาลและอบต. รวมทั้งการประสานแผน พัฒนาท้องถิ่นเพื่อไม่ให้งานซ้ำซ้อน
๒. การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีการบริหารจัดการไม่เหมือนกับรูปแบบทั่วไปจะมีขึ้น เป็น กรณีๆไป ส่วนใหญ่จะเป็นเขตเมืองใหญ่ เช่น เมืองหลวงหรือเมืองท่องเที่ยว ซึ่งไม่เหมาะสม ที่จะใช้รูปแบบทั่วไปมาใช้ในการปกครอง ปัจจุบันมี ๒ แห่งได้แก่
๒.๑ กรุงเทพมหานคร เขตปกครองพิเศษของประเทศไทย มิได้มีสถานะเป็นจังหวัด คำว่า กรุงเทพมหานคร นั้นยังใช้เรียกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครอีกด้วย ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง
๒.๒ เมืองพัทยา เป็นเขตปกครองพิเศษเขตหนึ่งที่ตั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.๒๕๒๑ (เทียบเท่าเทศบาลนคร) ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดชลบุรี