ในปี ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานดำริในการกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่นขึ้น โดยทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ “พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116” ขึ้นจากการที่ทรงมอบหมายให้ไปศึกษาดูงานการปกครองในแถบประเทศพม่า มลายู และยุโรป และได้เริ่มทำการทดลองเพื่อเป็นการศึกษาขึ้นในกรุงเทพมหานคร แต่การบริหารงานของสุขาภิบาลกรุงเทพฯ นี้ดำเนินการโดยข้าราชการทั้งหมด จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 เป็นการปกครองท้องถิ่น เนื่องจากประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีการจัดตั้งสุขาภิบาลแห่งแรกขึ้นที่ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร อันถือเป็นสุขาภิบาลแห่งแรกของชาติไทย ปฐมบทแห่งการปกครองท้องถิ่น รากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ดังนั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอมขึ้นเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งแรก จึงได้ถือเอาวันที่ 18 มีนาคมของทุกปีเป็นวันท้องถิ่นไทย อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจการปกครองให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และเป็นการวางรากฐานในการปกครองท้องถิ่นอันสำคัญยิ่งที่จะนำไปสู่การวางรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในเวลาต่อมา